กระบี่: เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 เวลา 11.29 น. ณ ห้องธารา โรงแรมกระบี่มารีไทม์ รีสอร์ท อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ นายอังกูร ศีลาเทวากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานในพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน "ผ้าลายสิริราชพัสตราภรณ์" เบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
พิธีดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการส่งเสริมอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล โดยมีหน่วยงานส่งเสริม สนับสนุนเกื้อกูล จำนวน 18 ราย หน่วยส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาต่อยอด 7 ราย และหน่วยสืบสานรักษาและต่อยอด 17 ราย เข้ารับมอบแบบลายผ้าพระราชทาน อาทิ ประธานแม่บ้านหาดไทยจังหวัดกระบี่ หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ นายกสมาคมสตรีจังหวัดกระบี่ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ ประธานคณะกรรมการพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดกระบี่ ประธานเครือข่าย OTOP จังหวัดกระบี่ และกลุ่มผู้ผลิตผ้าไทยและงานหัตกรรมจังหวัดกระบี่ เป็นต้น
แบบลายผ้าพระราชทาน "ผ้าลายสิริราชพัสตราภรณ์" เป็นลายผ้าที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบขึ้น เนื่องในโอกาสที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตรากรณ์ ประจำปีการศึกษา 2566 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายที่ปรากฏในศิลปกรรมไทยและผืนผ้าโบราณ นำมาออกแบบต่อยอดให้มีความร่วมสมัยเป็นสากล แต่ยังคงสื่อถึงเอกลักษณ์อันงดงามของชาติไทย ซึ่งจำแนกได้ดังนี้
- ผ้าลายสิริราชพัสตราภรณ์ ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทผ้ายก, จก, ขิด, แพรวา ประกอบด้วย ลายดอกพุดตาน ลายมยุรสิริ ลายขอเฟื่องอุบะ และลายขอเจ้าฟ้าฯ 2568 ซึ่งพระราชทานเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
- ผ้าลายสิริราชพัสตราภรณ์ ประเภทผ้าบาติก ลายที่ 1 ประกอบด้วย ลายดอกพุดตาน ลายหัวใจดอกพุดตาน ลายมยุรสิริ ลายม้า และลายขอเจ้าฟ้าฯ 2568 พระราชทานเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
- ผ้าลายสิริราชพัสตราภรณ์ ประเภทผ้าบาติก ลายที่ 2 ทรงเพิ่มลายช่อดอกพุดตาน ซึ่งเป็นช่อลายที่ประกอบขึ้นด้วยช่อดอกพุดตาน 5 ดอก เรียงไล่ขนาดในรูปทรงหยดน้ำทรงพุ่ม หรือลาย "Paisley" ซึ่งเป็นรูปทรงลายโบราณที่แพร่กระจายจากเปอร์เซียสู่เอเชียตะวันออกและเชียอาคเนย์ พระราชทานเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
ผู้ที่ได้รับมอบแบบลายผ้าพระราชทานในครั้งนี้ จะนำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้แก่กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการทุกกลุ่มทุกเทคนิค เยาวชนคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มทอผ้าต่าง ๆ เพื่อนำไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอดขยายผล ยกระดับมาตรฐาน เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของตน ตลอดจนขับเคลื่อนมาตรการการใช้และสวมใส่ผ้าไทยให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง อันเป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรมภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป
///
0 Comments :
แสดงความคิดเห็น