ปลดล็อกกัญชา ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ได้เสรี 100%

 ปลดล็อกกัญชา ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ได้เสรี 100%



          นับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ปลดล็อกกัญชา-กัญชงออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ในขณะที่  ร่าง พ.ร.บ.กัญชา-กัญชง ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ทำให้เกิดข้อกังวลว่าอาจมีการใช้กัญชา-กัญชงในทางที่ผิดและเกิดผลกระทบต่อสังคมตามมา

   พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการพืชกัญชาและกัญชง โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อกำหนดมาตรการและควบคุมการใช้ประโยชน์พืชดังกล่าวให้สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลคือเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และเศรษฐกิจ โดยไม่สนับสนุนให้เกิดการใช้ในเชิงนันทนาการหรือมอมเมาโดยจากการหารือในครั้งแรกได้มีข้อกังวลเรื่องการใช้ในทางที่ผิดให้ทุกหน่วยงานเร่งสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน

การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ 

    ปัจจุบันมีการบรรจุยาที่มีส่วนผสมของกัญชาในบัญชียาหลัก 8 ตำรับ จ่ายยาให้ผู้ป่วยแล้วกว่า 1 แสนราย ในโรคดังนี้

   - ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด

   - โรคลมชักรักษายาก

   - ภาวะปวดประสาท

     และในอนาคตจะนำไปใช้ในกลุ่ม โรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ โรคมะเร็ง รวมถึงโรคอื่น ๆ ที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานแล้วไม่ได้ผลแผนไทย

     นอกจากนี้มีตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม 16 ตำรับ เช่น ศุขไสยาสน์ ทำลายพระสุเมรุ ช่วยบรรเทาอาการปวด เจริญอาหาร และช่วยเรื่องการนอน เป็นต้น    

     ทั้งนี้การใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

การใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

   - ต้นน้ำ สามารถสร้างรายได้ตั้งแต่การปลูกในระดับครัวเรือน/ชุมชน/วิสาหกิจชุมชน เช่น การเพาะเมล็ดพันธุ์ การปลูก/ขาย ต้นหรือใบ

   - กลางน้ำ ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เช่น อาหาร หรือพัฒนาในเชิงอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง ยา (ตอนนี้ อ.ย. อนุมัติแล้ว 1,181 รายการ)

   - ปลายน้ำ มีผลิตภัณฑ์กัญชาสำหรับใช้รักษาผู้ป่วยให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการรักษาผู้ป่วยด้วยกัญชา ต่อยอด Medical Wellness hub ของอาเซียน

ข้อกังวลต่อการใช้กัญชาผิดวัตถุประสงค์

    การใช้กัญชาในเชิงนันทนาการอาจก่อให้เกิดผลต่อสุขภาพ เช่น ภาวะพิษเฉียบพลัน อาการทางจิต เกิดการเสพติด และเกิดอุบัติเหตุจราจร 

    นอกจากนี้ กรมการแพทย์ระบุว่า เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ควรใช้กัญชา เนื่องจากมีผลต่อสมองการเรียนรู้ ระบบประสาทและพัฒนาการ รวมถึงขอให้งดใช้ในครอบครัวที่มีผู้ป่วยจิตเวช และหญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งขอให้งดขับรถ งดใช้ เครื่องจักรภายนะ 6 ชั่วโมง

กัญชาไม่ได้เสรี 100% มีกฎหมายกำกับดูแล เช่น

    - การนำกัญชาไปปรุงอาหารหน้าร้าน

       ตามประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2565 ซึ่งหมายรวมถึง  ตลาด สถานที่จำหน่ายอาหาร สถานที่สะสมอาหาร และการจำหน่ายในที่ หรือทางสาธารณะ จะต้องแสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหาร  ตามประเภทการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร เช่น อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู สำหรับอาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู

       นอกจากนี้ จะต้องแสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชา ให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยงหากรับประทานอาหารที่ใช้ใบกัญชาทราบด้วยการระบุข้อความ “เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา  เช่น ขนม อาหารและเครื่องดื่ม สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน” “หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที” “ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสา THC หรือสาร CBDควรระวังในการรับประทาน” “อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล” และห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค

     - เครื่องสำอางกัญชา

      สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อย.ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การใช้ส่วนของกัญชาในเครื่องสำอาง พ.ศ.2564  โดยใช้ส่วนต่างๆ มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วล้างออกนั้น 1. ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในช่องปาก หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ บริเวณจุดซ่อนเร้น และ 2. เครื่องสำอางพร้อมใช้จะต้องมีสาร THC ปนเปื้อนไม่เกิน 0.2%

       ทั้งนี้ จะต้องมีการแสดงสรรพคุณบนฉลากหรือโฆษณาเครื่องสำอาง อาทิ “ช่วยให้ความนุ่มลื่นแก่ผิว”  “บำรุง ดูแลเส้นผมหรือหนังศีรษะ” “แต่งกลิ่นจากกัญชาหรือกัญชง” เป็นต้น

     - การใช้เพื่อนันทนาการในที่สาธารณะ

       การสูบกัญชา ไม่มีความผิด แต่การสูบกัญชาในที่สาธารณะ รบกวนสิทธิผู้อื่น มีความผิดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท นอกจากนี้การสูบกัญชาแบบม้วนยังไม่สามารถทำได้ ก็จะลดการใช้ที่สาธารณะไปได้ ซึ่งปัจจุบันหลายหน่วยงานออกกฎกติกาของตัวเองเพื่อควบคุมการใช้กัญชาในสถานประกอบการ

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอื่น ๆ ในการควบคุม ดังนี้

     ถ้าเอามาสกัดน้ำมันกัญชาหรือสารในกัญชา ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 2564 และสารสกัดกัญชายังเป็นยาเสพติด เมื่อเป็นยาเสพติดจึงไม่สามารถจำหน่ายจ่ายแจกได้

   จะเอามาทำอาหาร ทำเค้ก ทำเครื่องดื่มใส่ขวดขายต้องขอตาม พ.ร.บ.อาหาร 2522

   จะเอามาทำเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 2562

   จะเอามาผสมหรือผลิตเครื่องสำอาง ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง 2558

   จะเอามาทำยาสูตรต่างๆ ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ยา 2510

  การนำเข้าเมล็ดพันธ์ต้นพันธุ์ก็ต้องขออนุญาตจากกระทรวงเกษตรตาม พ.ร.บ.กักพืช และ พ.ร.บ.พันธุ์พืช

เตรียมออกประกาศ “สมุนไพรควบคุม”        

     นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ขณะนี้ได้รวบรวมเนื้อหาข้อกฎหมายต่างๆในส่วนของกัญชา จัดทำเป็น ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา ) เพื่ออุดช่วงโหว่          ช่วงสุญญากาศ ระหว่างร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. โดยหัวใจหลักคือ มุ่งเน้น การจำกัดการครอบครอง ช่อดอกของกัญชา            ซึ่งจะมีรายละเอียดในการควบคุมการครอบครอง ในฐานะบุคคล, วิสาหกิจชุมชน ป้องกันการเสพกัญชา หรือการใช้เพื่อนันทนาการ        เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ลงนาม จากนั้นเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะมีผลบังคับใช้ทันที คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในหนึ่งสัปดาห์

แนวทางการสื่อสาร

1. เน้นย้ำเป้าหมาย การปลดล็อคกัญชาของรัฐบาลเพื่อเศรษฐกิจและการแพทย์ ไม่ส่งในเชิงนันทนาการ

2. ให้เห็นประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมจากเป้าหมายหลัก ระวังการนำเสนอเรื่องการใช้ในเชิงนันทนาการ หากนำเสนอต้องมีคำเตือน

3. ยกตัวอย่างกลไกที่นำมาใช้เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างของกฎหมายในการกำกับดูแล

About สบายใจจัง

This is a short description in the author block about the author. You edit it by entering text in the "Biographical Info" field in the user admin panel.

0 Comments :

แสดงความคิดเห็น