อำเภอลำทับ จ.กระบี่ เตรียมจัดงาน Love Lamthap : รำลึกพระเศวต
อำเภอลำทับ จ.กระบี่ เตรียมจัดงาน Love Lamthap : รำลึกพระเศวต เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับพระเศวตและรำลึกถึงความสำคัญของพระเศวตช้างคู่พระบารมีในหลวงรัชกาลที่ 9 ลำดับที่ 1 ซึ่งคล้องได้ที่อำเภอลำทับ
นายไพโรจน์ ศรีละมุล นายอำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่านับตั้งแต่อดีตกาล ช้างเผือกถือเป็นสัตว์มงคลแห่งองค์พระมหากษัตริย์ เป็นช้างที่มีคชลักษณะที่ดีต้องตามตำราคชศาสตร์ ช้างเผือกเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง จึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ทำให้บ้านเมืองรุ่งเรือง ช้างเผือกเป็นสิ่งหนึ่งในแก้ว ๗ ประการ อันเป็นเครื่องหมายของพระเจ้าจักรพรรดิ โดยช้างต้นคู่พระบารมี ลำดับที่ 1 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 คล้องได้ที่บ้านหนองจูด ตำบลดินอุดม อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ เมื่อ พ.ศ.2499 ได้นำขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวาย เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2501 เพื่อประกอบพิธีขึ้นระวางเป็นช้างต้น และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างเผือกประจำรัชกาล ณ โรงช้างต้นพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 เป็นปีที่ 13 ในรัชกาลที่ 9
ดังนั้นเพื่อรำลึกถึงความสำคัญ ประวัติความเป็นมา และร่วมอุทิศส่วนกุศลให้กับพระเศวต ฯ ในโอกาสครบรอบ 62 ปี วันสมโภชขึ้นระวางช้างต้นพระเศวตคู่พระบารมี อำเภอลำทับจึงได้จัดงาน Love Lamthap : รำลึกพระเศวต ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 25692 ณ บ้านไร่ตะวันหวาน อ.ลำทับ จ.กระบี่ โดยพิธีเริ่มตั้งแต่เวลา 09.09 น. เป็นต้นไป ประกอบด้วยพิธีบวงสรวงโดยพราหมณ์ พิธีเจริญพระพุทธมนต์โดยพระสงฆ์ การแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติพระเศวต การแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP อาหารพื้นบ้าน และมีพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการในเวลา 17.00 น. ชม พิธีรำบวงสรวงโดยนางรำ กว่า 500 คน การคล้องช้างตามแบบโบราณโดยใช้ช้างจริง 7 เชือก และวิถีชีวิตของชาวอำเภอลำทับในอดีต การแสดง แสง สี เสียง การแสดงดนตรีลูกทุ่ง การประกวดธิดาพระเศวต(ธิดาช้าง) การลอยกระทง จึงขอเชิญชวนประชาชน สื่อมวลชน แลชะผู้สนใจ ร่วมชมงานและร่วมอุทิศส่วนกุศลให้กับพระเศวต ในวันดังกล่าว
สำหรับช้างเผือกคู่พระบารมีเชือกแรกในรัชกาลที่ 9 เป็นช้างพลายเผือกโทนเดิมมีนามว่า ""พลายแก้ว" พระราชวังเมือง (ปุ้ย คชาชีวะ)ได้ตรวจสอบคชลักษณ์แล้วพบว่าเป็นช้างสำคัญมงคลลักษณะ ๗ ประการ ประกอบด้วย ตาขาว เพดานปากขาว เล็บขาว ขนขาว พื้นหนังขาว หรือสีคล้ายหม้อใหม่ ขนหางขาว และ อัณฑโกสขาว หรือสีคล้ายหม้อใหม่ เมื่อขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้นพระราชวังดุสิต วันที่ 11พฤศจิกายน 2502 ได้พระราชทานนามว่า "พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนวมนาถบารมี ทุติยเศวตกรีกมุทพรรโณภาส บรมกมลาสนวิศุทธวงศ์ สรรพมงคลลักษณคเชนทรชาติ สยามราษฎรสวัสดิ์ประสิทธิ์ รัตนกุญชรนิมิตบุญญาธิการ ปรมินทรบพิตรสารศักดิเลิศฟ้า" และ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี พ.ศ. 2549 มีกระแสพระราชดำรัสให้จัดสร้าง คชาภรณ์ หรือเครื่องทรงช้างต้นชุดใหม่ พระราชทานแก่พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เนื่องจากคชาภรณ์ชุดเดิมที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชพระราชทานให้ เมื่อ พ.ศ. 2502 มีสภาพเก่า และมีขนาดเล็กเกินไป โดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม รับสนองพระบรมราชโองการจัดสร้างเครื่องคชาภรณ์ชุดใหม่ ด้วยงบประมาณ 4 ล้านบาท ใช้ทองคำ 96.5 % หนักกว่า 5,953 กรัม และ พระเศวตอดลยเดชพาหนฯ ได้ล้มลงแล้ว เมื่อ 3 เมษายน พ.ศ.2553ณ โรงช้างต้น วังไกลกังวล หัวหิน
0 Comments :
แสดงความคิดเห็น